Last updated: 2 Feb 2019 |
อันนา ฟรอยด์ ซึ่งเป็นบุตรีคนสุดท้องของฟรอยด์ เป็นนักจิตวิเคราะห์ที่โดดเด่นด้วยผลงานของตัวเอง และเป็นผู้ริเริ่มจิตบำบัดสำหรับเด็ก อันนา ฟรอยด์ต่อยอดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ ‘Ego psychology’ ซึ่งศึกษาพัฒนาการของอีโก้หรือจิตสำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่าง Id และ Superego ทำให้เกิดความทุกข์ ความกลัว ความเจ็บปวดหรือความรู้สึกผิดในระดับ Ego นำไปสู่การใช้กลไกในการป้องกันตัวแบบต่างๆ (Defense Mechanisms)
กลไกในการป้องกันตัว ซึ่งหมายถึงกลไกที่ทำหน้าที่ปกป้อง Ego ซึ่งเกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึกนั้น แม้เป็นเรื่องธรรมชาติที่บุคคลทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันในทุกช่วงอายุ (โดยไม่รู้ตัว) เพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์ความคับข้องใจจากสภาวะที่เจ็บปวดหรือท่วมท้นจนไม่อาจรับมือไหวในระยะสั้น แต่การใช้กลไกในการป้องกันตัวอาจมีผลเสียในระยะยาว กล่าวคือสูญเสียโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ซึ่งขัดขวางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและพัฒนาการไปสู่การมีวุฒิภาวะ (maturity)
ทั้งอันนา ฟรอยด์และฟรอยด์ผู้เป็นบิดาต่างศึกษากลไกในการป้องกันตัว แต่อันนา ฟรอยด์เป็นผู้ให้คำจำกัดความถึงกลไกในการป้องกันตัวอย่างละเอียดในหนังสือ The Ego and the Mechanisms of Defense โดยอธิบายเกี่ยวกับ concept of signal anxiety ซึ่งสภาวะความกลัวทำหน้าที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแนวโน้มที่ Ego จะตกอยู่ในอันตรายอันเนื่องมากจากความตึงเครียดภายใน จึงต้องมีกลไกปกป้อง Ego ที่ทำงานในระดับจิตไร้สำนึก เพื่อตอบสนองต่อสภาวะความกลัวดังกล่าว และช่วยขจัดภัยคุกคามให้พ้นไป (ซึ่งรวมถึงสภาวะความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับจุดอ่อนและความผิดพลาดของตนเอง)
อันนา ฟรอยด์ให้ความสำคัญและใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้ากลไกในการป้องกันตัว 5 ประการ ดังนี้
► การเก็บกด (Repression)
► การถดถอย (Regression)
► การโยนความผิดให้ผู้อื่น (Projection)
► การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความต้องการที่แท้จริง (Reaction formation)
► การทดแทนในรูปแบบที่สังคมยอมรับ (Sublimation)
กลไกในการป้องกันตัวจึงเป็นวิธีที่บุคคลใช้เพื่อหลบหลีกหรือผลักปัญหาความขัดแย้งออกไปชั่วคราว อาจเรียกได้ว่า เป็น 'การหลอกตัวเอง' โดยไม่เพียงมีลักษณะ ‘ต่อต้าน’ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องอีโก้ไม่ให้ต้องเผชิญกับสภาวะความทุกข์ทางใจด้วย
อันนา ฟรอยด์ เชื่อว่าคนเราส่วนใหญ่ใช้กลไกในการป้องกันตัวอย่างน้อย 5 แบบในแต่ละวัน แม้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากใช้มากเกินไป อาจมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ ทำให้เราเป็นบุคคลที่น่าเบื่อ ดูไม่เป็นผู้ใหญ่ ขาดวุฒิภาวะ มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ไม่ก้าวหน้าในชีวิต หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดโรคทางจิตประสาทได้
อย่างไรก็ดี การทำให้กลไกเหล่านี้ซึ่งทำงานในระดับจิตไร้สำนึก เป็นที่รับรู้ ก็อาจช่วยให้เรารู้ตัวมากขึ้น ใช้กลไกในการป้องกันตัวน้อยลง หันมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่อาจเจ็บปวดได้มากขึ้น และลงมือปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ความมีวุฒิภาวะที่สูงขึ้นได้
รายการอ้างอิง
Stangroom, J. (2018). Psychology: 50 Ideas in 500 words (Rev. ed.). London: Elwin Street Productions Limited.
McLeod, S. A. (2017, May 05). Defense mechanisms. Retrieved from https://www.simplypsychology.org/defense-mechanisms.html
Defense Mechanisms. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Defence_mechanisms
The Essential Guide to Defense Mechanisms: Can you spot your favorite form of self-deception?. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/au/blog/fulfillment-any-age/201110/the-essential-guide-defense-mechanisms
Abwehrmechanismus. Retrieved from https://de.wikipedia.org/wiki/Abwehrmechanismus
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. สืบค้นจาก https://www.dek-d.com/board/view/1402616/
Psychodynamic Theories ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/wingsswagger/3-thvsdi-thangkar-phyabal-sukhphaph-cit/3-1-thvsdi-cit-wikheraah-samphanthphaph-rahwang-bukhkhl-laea-cit-sangkhm
จิตวิทยาสำหรับครู. สืบค้นจาก http://405404027.blogspot.com/2012/10/blog-post_1697.html
กลไกในการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism). สืบค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/283791
โดยทีมงาน Six Facets Press
11 Jun 2020
21 Jul 2019
16 Feb 2019