Last updated: 2 Feb 2019 |
คาร์ล กุสตาฟ ยุง เป็นนักจิตวิทยาบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งทฤษฎีจิตวิทยาการวิเคราะห์ (Analytical psychology) โดยพัฒนาต่อยอดจากจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis หรือ Psychoanalytic theory) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)
ยุงเคยสนิทสนมเป็นอย่างยิ่งกับซิกมันด์ ฟรอยด์ แต่ต่อมามิตรภาพของทั้งสองสิ้นสุดลงเนื่องจากการพัฒนาทฤษฎีที่ฉีกแนวออกไปจากที่ฟรอยด์ดำริไว้ โดยยุงเชื่อว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากบรรพบุรุษมาแสดงออกเป็นพฤติกรรม จึงนำเสนอองค์ประกอบของจิต (Psyche) ว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
จิตสำนึก (Ego หรือ Consciousness) ซึ่งก็เป็นจิตในระดับที่รู้สึกตัว ใช้เหตุใช้ผล
ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal unconscious) ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ส่วนบุคคลที่มีการรับรู้ในระดับจิตสำนึกมาก่อน แต่มีการเก็บกด ละเลยเพิกเฉยจนถูกผลักไปในส่วนของจิตไร้สำนึกด้วยเหตุผลบางประการ แต่ก็อาจนำคืนมาได้หากมีสิ่งเร้ามากระตุ้น (เปรียบเทียบ “จิตใต้สำนึก” (pre-conscious หรือ sub-conscious) ของฟรอยด์)
จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล (Collective unconscious) คำว่า collective ซึ่งหมายถึงผลรวมของประสบการณ์ไม่เพียงรวมถึงประสบการณ์ในชาตินี้ แต่ยังหมายรวมถึงประสบการณ์ในอดีตชาติของมนุษย์อีกด้วย ทฤษฎีนี้ของยุงจึงมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางที่ถูกตั้งคำถามมากด้วยเช่นกัน โดยได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นเสมือนเทพนิยายหรือตำนาณโบราณมากกว่าที่จะเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์
ภายใต้ทฤษฎีเรื่องจิตไร้สำนึก มีการแบ่งระบบภายในออกเป็นหลายองค์ประกอบ ได้แก่
► ต้นแบบหรือแม่แบบ (archetype) ซึ่งเป็นรูปแบบในการแสดงพฤติกรรม เช่น แม่แบบของแม่ (ต้นแบบความดีของแม่) หรือแม่แบบของสุริยเทพ (ต้นแบบความยิ่งใหญ่ ความสว่าง ความอบอุ่นของพระราชา) แม่แบบของพลังธรรมชาติ (ต้นแบบวีรบุรุษผู้มีความเข้มแข็งกล้าหาญ)
► หน้ากาก (persona) หมายถึงบทบาทที่บุคคลแสดงออกในสังคม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกต่อสาธารณะ (public personality) เป็นการตอบโจทย์ต้นแบบหรือแม่แบบ (archetype) ของตน
► ปม (complex) เป็นส่วนประกอบของประสบการณ์ไร้สำนึก หรือจิตไร้สำนึกส่วนบุคคล ซึ่งมักเกี่ยวข้องอำนาจหรือสถานะของบุคคล เป็นต้นตอของลักษณะอารมณ์ของบุคคล ยุงเน้นว่าปมโดยตัวเองอาจไม่ได้เป็นเชิงลบเสมอไป แต่ผลกระทบของปมมีผลกระทบกับบุคลิกภาพ รบกวนการทำงานของจิต (functions การทำงานของจิต 4 ประการ ได้แก่ ความรู้สึก ความคิด ญาณหยั่งรู้ และการรับรู้ทางประสาทสัมผัส) ปมที่บุคคลไม่รับรู้ (ถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก) เป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมและการแสดงออกทางอารมณ์ในแบบที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคทางจิต การรู้จักปมของตนเองจึงมีประโยชน์ในแง่ของการใช้เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เป็นต้น
► เงา (shadow) คือสัญชาติญาณแบบสัตว์ในบุคคล ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ จึงมักถูกซ่อนไว้ภายใต้หน้ากาก
► ตัวตน (self) เป็นหลักการที่เราใช้สร้างบุคลิกภาพ (ความเป็นตัวเรา) โดยถือเป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพ กระบวนการจัดศูนย์กลางของบุคลิกภาพนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การกลายเป็นปัจเจก (Individualization)
► ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (anima) ลักษณะของชายที่มีอยู่ในหญิง (animus) เป็นลักษณะของเพศตรงข้ามที่แฝงอยู่ในบุคคลในระดับจิตไร้สำนึกแบบ collective โดยยุงกล่าวว่า ความอ่อนไหวของผู้ชายซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของหญิงที่แฝงอยู่มักถูกเก็บกดไว้และอาจพิจารณาได้ว่าเป็นปมที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ลักษณะแฝงดังกล่าวมักแสดงตัวในรูปของความฝันและมีอิทธิพลต่อทัศนคติและปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม
ยุงได้แบ่งลักษณะทางบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. บุคลิกภาพแบบเปิดตัว (Extroversion) มีเจตคติหันออกจากตนเอง โดยมีลักษณะชอบเข้าสังคม ชอบแสดงตัว ช่างพูด เปิดเผย ชอบสร้างความสัมพันธ์
2. บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introversion) มีเจตคติหันเข้าหาตนเอง โดยจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับบุคลิกแบบเปิดตัว
ตามยุง บุคคลต่างมีบุคลิกภาพทั้งสองแบบอยู่ในตัวแล้วแต่ว่าแบบใดจะเด่นกว่า บุคลิกภาพทั้งสองแบบเกี่ยวข้องกับใช้หน้าที่การทำงานของจิต ได้แก่ ความรู้สึก ความคิด ญาณหยั่งรู้ และการรับรู้ทางประสาทสัมผัส และรูปแบบการเรียนรู้ของบุคคล บุคลิกภาพแบบเปิดตัวอาจเน้นการรับรู้จากประสาทสัมผัส (Extroverted sensing) ในขณะที่บุคลิกภาพแบบเก็บตัวอาจใช้ความรู้สึก ความคิด หรือญาณหยั่งรู้ (Introverted intuition) มากกว่า
หากบุคคลได้พัฒนาบุคลิกภาพโดยมีแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป การวิเคราะห์ทางจิตอาจช่วยให้บุคคลตระหนักรู้ว่าเขาได้ละเลยการพัฒนาบุคลิกภาพด้านใดไป ซึ่งอาจช่วยสร้างความสมดุลระหว่างบุคลิกภาพทั้งสองแบบได้ เช่น บุคคลผู้ทำตัวเป็นผู้คุมกฎทางศีลธรรมที่มุ่งมองออกนอกตัว แล้วกล่าวโทษผู้อื่น (projection of one’s own shadow to others) ก็อาจหันมองกลับเข้ามาดูตนเองมากขึ้น
ผลงานของยุงมีอิทธิพลต่อจิตเวชศาสตร์ วรรณกรรม และอีกหลายๆ สาขาที่เกี่ยวข้อง แม้บางทฤษฎีเป็นที่ถกเถียงเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาซึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ตั้งแต่ ค.ศ. 1913 (ปีที่แยกทางจากฟรอยด์) ยุงได้ทดลองเกี่ยวกับมโนภาพหรือภาพในใจด้วยการคิดสร้างภาพในใจและจินตนาการอย่างจงใจ โดยตั้งคำถามว่าเมื่อทำดังนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากจิตสำนึกดับลง ซึ่งคือการเผชิญหน้ากับจิตไร้สำนึก และเมื่อความฝันปรากฏตัว ยุงก็จะค้นคว้าต่อไปว่าความฝันนี้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไร มาปรากฏให้เห็นเพื่ออะไร ยุงได้บันทึกกิจกรรมการทดลองดังกล่าวในวารสารชุด 6 เล่มซึ่งเรียกรวมว่า Black Books
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1914 ยุงเห็นว่าประสบการณ์ทางจินตภาพของเขาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องราวของสังคมวัฒนธรรมด้วย จึงได้จัดทำต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ พร้อมภาพลายเส้น บันทึกจินตภาพต่างๆ จากการทดลองพร้อมคำอธิบาย ซึ่งเรียกว่า Liber Novus โดยในปี ค.ศ. 1915 เขาได้นำต้นฉบับดังกล่าวมาจัดทำเป็นรูปเล่มอย่างมีศิลปะ (ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม The Red Book) จากนั้นเป็นเวลา 16 ปี ยุงหยุดนำต้นฉบับ Liber Novus เข้ามาใส่ The Red Book โดยเนื้อหาที่โอนถ่ายมาแล้วคิดเป็น 2 ใน 3 ส่วนของ Liber Novus
หนังสือ The Red Book ไม่มีการตีพิมพ์จนกระทั่งยุงเสียชีวิตไปแล้วหลายทศวรรษ ในที่สุดทายาทของยุงตัดสินใจที่จะอนุญาตให้ตีพิมพ์ The Red Book ซึ่งเล่มที่ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อตีพิมพ์มีเนื้อหาของต้นฉบับ Liber Novus ส่วนที่ไม่ได้นำเข้าไปไว้ในเล่ม The Red Book ต้นฉบับด้วย
The Red Book ดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2009 โดย Sonu Shamdasani (บรรณาธิการและผู้แปล), Mark Kyburz (ผู้แปล) และ John Peck (ผู้แปล) ส่วนต้นฉบับ The Red Book ภาษาเยอรมันในปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องนิรภัยของธนาคารในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ยุงได้มีวาทะสำคัญที่ผู้เรียบเรียงเห็นว่ามีความสอดคล้องกับความรู้จากการปฏิบัติภาวนาเชิงทางพุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประสบการณ์การหยั่งรู้ที่ได้จากการทดลองทางจิตกับตัวยุงเองที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น นั่นก็คือ
วาทะการดูจิตดังกล่าวที่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ คือ
รายการอ้างอิง
Stangroom, J. (2018). Psychology: 50 Ideas in 500 words (Rev. ed.). London: Elwin Street Productions Limited.
คาร์ล ยุง. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/คาร์ล_ยุง
จิตแพทย์แห่งมวลมนุษย์ คาร์ล กุสตาฟ จุง. สืบค้นจาก http://www.newheartawaken.com/guru/23
ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ จี จุง (Carl G. Jung Theory). สืบค้นจาก https://lotus062.wordpress.com/2010/08/15/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%88/
Anima and animus. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Anima_and_animus
Complex (psychology). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Complex_(psychology)
Complex. Retrieved from https://frithluton.com/articles/complex/
The Red Book (Jung). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/The_Red_Book_(Jung)
The Red Book (Jung). Retrieved from http://self.gutenberg.org/articles/red_book_(jung)?view=embedded
เรียบเรียงโดยทีมงาน Six Facets Press
16 Feb 2019
21 Jul 2019
11 Jun 2020